วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)


พรหมมา  วิหกไพบูลย์ .(2558). (http://learntheory58.blogspot.com/2015/06/blog-post.html) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)ไว้ว่า นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง  คือ ไม่ดี – ไม่เลว  การกระทำต่างของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก  พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า(stimulus response)  การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง  กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับ   ”พฤติกรรม”  มากเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด  สามารถวัดและทดสอบได้  ทฤษฏีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกัน  คือ
                          -   ทฤษฎีการเชื่อมโยง (Classical Connectionism)   ของธอร์นไดค์
(Thorndike)  มีความเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจาการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง  ซึ่งมีหลายรูปแบบ  บุคคลจะมีการลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่สามารถให้ผลที่พึงพอใจมาก ที่สุด  เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว  บุคคลจะใช้รูปแบบการตอบสนองที่เหมาะสมเพียงรูปแบบเดียว  และจะพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้าง  มีการสำรวจความพร้อมของผู้เรียนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสอนบทเรียน  เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วครูควรฝึกให้ผู้เรียนฝึกการนำการเรียนรู้นั้นไปใช้บ่อยๆ  การศึกษาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าหรือรางวัลที่ผู้เรียนพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
                        -   ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)   ประกอบด้วยทฤษฏีย่อย 4 ทฤษฏี  ดังนี้  1)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning)   เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  2) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning)  เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเช่นกัน สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ  3)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี (Guthrie’s Contiguous Conditioning)  เน้นหลักการจูงใจ  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วแม้เพียงครั้งเดียว  ก็นับว่าได้เรียนรู้แล้วไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก  4)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning)  เน้นการเสริมแรงหรือให้รางวัล  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การกระทำใดๆ ถ้าได้รับการเสริมแรงจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก  การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเสนอสิ่งเร้าในการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  มีการแสริมแรงหรือให้รางวัลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจที่จะเรียนรู้
                        -   ทฤษฏีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)  มีความเชื่อว่าถ้าร่างกายเมื่อยล้า  การเรียนรู้จะลดลง  การตอบสนองต่อการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อได้รับแรงเสริมในเวลาใกล้บรรลุเป้าหมาย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงมักคำนึงถึงความพร้อม  ความสามารถและเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด  การจัดการเรียนการสอนควรให้ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองระดับความสามารถของผู้เรียน




http://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Behavioral_Learning_Theories.htm ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ว่า ทฤษฎีกลุ่มนี้เน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (Stimulas) และ การตอบสนอง (Response) โดยอินทรีย์จะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและ การตอบสนองอันนำไปสู่ ความสามารถในการแสดงพฤติกรรม คือการเรียนรู้นั่นเอง ผู้นำที่สำคัญของ กลุ่มนี้ คือ พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ธอร์นไดร์ (Edward Thorndike) และสกินเนอร์ (B.F.Skinner)
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning)
ผู้ที่ทำการศึกษาทดลองในเรื่องนี้ คือ พาฟลอฟ ซึ่งเป็นนักสรีระวิทยาชาวรัสเซีย เขาได้ทำการศึกษาทดลองกับสุนัขให้ ยืนนิ่งอยู่ในที่ตรึงใน ห้องทดลอง ที่ข้างแก้มของสุนัขติดเครื่องมือวัดระดับการไหลของน้ำลาย การทดลองแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ก่อนการวางเงื่อนไข (Before Conditioning) ระหว่างการวางเงื่อนไข (During Conditioning) และ หลังการวางเงื่อนไข (After Conditioning) อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค คือ การตอบสนอง ที่เป็นโดยอัตโนมัติเมื่อนำ สิ่งเร้าใหม่มาควบคุมกับสิ่งเร้าเดิม เรียกว่า พฤติกรรมเรสปอนเด้นท์ (Respondent Behavior) พฤติกรรมการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับมนุษย์และสัตว์ คำที่พาฟลอฟใช้อธิบายการทดลองของเขานั้น ประกอบด้วยคำสำคัญ ดังนี้
          - สิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Neutral Stimulus) คือ สิ่งเร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการตอบสนอง 
          - สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (Unconditioned Stimulus หรือ US ) คือ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองได้ตาม
  ธรรมชาติ 
          - สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (Conditioned Stimulus หรือ CS) คือ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองได้หลังจากถูกวางเงื่อนไขแล้ว
          การตอบสนองที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข (Unconditioned Response หรือ UCR) คือ การตอบสนองที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติ
          การตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไข (Conditioned Response หรือ CR) คือ การตอบสนองอันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ที่ถูกวางเงื่อนไขแล้ว กระบวนการสำคัญอันเกิดจากการเรียนรู้ของพาฟลอฟ มีอยู่ 3 ประการ อันเกิดจากการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข คือ
          1. การแผ่ขยาย (Generalization) คือ ความสามารถของอินทรีย์ที่จะตอบสนองในลักษณะเดิมต่อสิ่งเร้าที่มี ความหมายคล้ายคลึงกันได้
          2. การจำแนก (Discrimination) คือ ความสามารถของอินทรีย์ในการที่จะจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้าได้
          3. การลบพฤติกรรมชั่วคราว (Extinction) คือ การที่พฤติกรรมตอบสนองลดน้อยลงอันเป็นผลเนื่องมาจากการ ที่ไม่ได้รับสิ่งเร้า ที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข การฟื้นตัวของการตอบสนองที่วางเงื่อนไข (Spontaneous recovery) หลังจากเกิด การลบพฤติกรรม ชั่วคราวแล้ว สักระยะหนึ่งพฤติกรรมที่ถูกลบเงื่อนไขแล้วอาจฟื้นตัวเกิดขึ้นมาอีก เมื่อได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข

          สุริน ชุมสาย ณ อยุธยา.(2553). (http://surinx.blogspot.com/). ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ไว้ว่า
          นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลางคือไม่ดีไม่เลว (neutral - passive) การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus - response) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับพฤติกรรมมาก เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด สามารถวัดได้และทดสอบได้ ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วยแนวคิด สำคัญ ๆ 3 แนวด้วยกันคือ
          1ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Classical Connectionism)
          ทฤษฎีการเรียนรู้
                    ธอร์นไดค์ (ค.ศ.1814 - 1949) เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ซึ่งมีหลายรูปแบบ บุคคลจะมีการลองผิดลองถูก (trial and error) ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่สามารถให้ผลที่พึงพอใจมากที่สุด เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว บุคคลจะใช้รูปแบบการตอบสนองที่เหมาะสมเพียงรูปแบบเดียวและจะพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์สรุปได้ดังนี้ (Hergenhahn and Olson, 1993 : 56 – 57 อ้างถึงใน (ทิศนา แขมมณี 2550 : 51 – 52)
          1. กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
          2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) การฝึกหัดหรือกระทำบ่อย ๆด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ การเรียนรู้นั้นจะไม่คงทนถาวรและในที่สุดอาจลืมได้
          3. กฎแห่งการใช้ (Law of Use and Disuse) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่นคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้น หากได้มีการนำไปใช้บ่อย ๆ หากไม่มีการนำไปใช้อาจมีการลืมเกิดขึ้นได้
          4. กฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law of Effect) เมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากจะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจ จะไม่อยากเรียนรู้ ดังนั้นการได้รับผลที่พึงพอใจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้

สรุป
            ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม คือ กลุ่มที่สนใจ พฤติกรรม ของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งจะมองมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลางคือไม่ดีและไม่เลว การกระทำต่างๆ ที่แสดงออกมาเกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก มนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ได้ต้องเกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งการตอบสนองจะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่สังเกตได้

ที่มา
พรหมมา  วิหกไพบูลย์. (2558). [online]. (http://learntheory58.blogspot.com/2015/06/blog-post.html).  ทฤษฎีการ
          เรียนรู้เมื่อ  4 กันยายน 2558.
            เรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม.เข้าถึงเมื่อ 4 กันยายน 2558.
สุริน ชุมสาย ณ อยุธยา.(2553). (http://surinx.blogspot.com/). ทฤษฎีการเรียนรู้. เข้าถึงเมื่อ 4 กันยายยน 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น